นายแพทย์สเตฟี่ วูโธบรัสเชล (StepheWoottoBushell) ชาวอังกฤษที่เป็นศิลปินและผู้เชี่ยวชาญด้านจีนศึกษาในช่วงศตวรรษที่ 19 เคยระบุในหนังสือ “ศิลปะจีน” ที่เขาแต่งขึ้นว่า “คนจีนเชี่ยวชาญการเย็บปักถักร้อยประเภทดอกไม้และนกชนิดต่างๆ โดยเฉพาะชาวกวางตุ้ง ยิ่งมีฝีมือยอดเยี่ยม” ซึ่งในสมัยนั้น ผลงานของเฉาสิ้ว ส่วนใหญ่ได้ส่งออกไปยังยุโรป และมีอิทธิพลอย่างมากต่อชาวยุโรป จนถึงช่วงทศวรรษ 1960-1970 เฉาสิ้วได้พัฒนาอย่างมากจนกล่าวได้ว่าเป็นยุคทอง มีสาวถักปักเกือบทุกบ้านเรือน ทุกหมู่บ้านมีคนจัดการดำเนินงาน มีผู้ร่วมเย็บปักถักร้อยกว่าแสนคน มูลค่าการผลิตกว่าร้อยล้านหยวน เด็กๆ ได้เรียนรู้วิธีเย็บปักถักร้อยตั้งแต่เด็ก เลิกเรียนแล้วก็ฝึกฝนฝีมือกับผู้ใหญ่ ฉะนั้นจึงทำให้แต้จิ๋วกลายเป็นฐานการผลิตชุดราตรีและชุดแต่งงานที่ใหญ่ที่สุดโลกเนื่องจากมีผู้มีฝีมือในด้านเย็บปักถักร้อย
เมื่อทศวรรษ 1970 นายหลิน จื้อเฉิง ซึ่งเป็นผู้ที่มีอิทธิพลมากที่สุดในด้านเฉาสิ้ว ได้ส่งผลงาน “ฉากบังลมเก้ามังกร” ไปร่วมนิทรรศการที่ซีเรีย ได้ดึงดูดสายตาและสร้างความประทับใจอย่างยิ่งกับผู้ชม สุดท้าย รัฐบาลจีนจึงจัดผลงานชิ้นนี้เป็นของขวัญแห่งรัฐมอบให้ประเทศซีเรีย นอกจากนี้ กระทรวงการต่างประเทศจีนยังได้เตรียมผลงานเฉาสิ้ว “หงส์หันหน้าสู่ตะวัน”ที่เป็นภาพปักสองหน้ามอบให้นายกรัฐมนตรีอังกฤษอีกด้วย