ช่วงปลายเดือนกรกฎาคมจนถึงต้นเดือนสิงหาคม เป็นช่วงร้อนที่สุดของจีน ที่หอวิจิตรศิลป์หยาเตี่ยน เมืองกว่างโจว มณฑลกว่างตง ทางภาคใต้ของจีน มีการจัดนิทรรศการ “คลี่พัดเล่นกับสายลม” จัดแสดงผลงานการเขียนอักษรศิลป์จีนบนพัดโดยศิลปินสำนักจือยี่ 10 คน (把翫清风——孜艺十人扇面展) จำนวนหลายสิบชิ้น ในมณฑลกว่างตง ซึ่งเป็นลูกศิษย์ร่วมอาจารย์เดียวกัน ศิลปินเหล่านี้แม้ว่าจะเรียนจากอาจารย์ท่านเดียวกัน แต่ก็มีข้อดีและความถนัดต่างกัน เมื่อเขียนอักษรศิลป์จีนลงหน้าพัด ซึ่งมีความยาวไม่ถึง 1 ฟุต ก็จะสามารถสะท้อนถึงความยิ่งใหญ่อลังการจากพัดอันเล็กๆ เหล่านี้ได้ อีกทั้งยังไม่ซ้ำซาก ซึ่งนับเป็นเรื่องที่หาได้ยาก
พัด หรือ “ซ่านจื่อ” (扇子) ในภาษาจีน ใช้โบกให้เกิดลม พัด เพื่อคลายร้อน หรือ ไล่แมลง แต่ชาวจีนสมัยโบราณกลับเติมแต่งนัยยะทางวัฒนธรรมที่ลึกซึ้งกินใจให้กับพัด ทำให้พัดกลายเป็นเสี้ยวหนึ่งของวัฒนธรรมจีน การเขียนอักษรศิลป์บนหน้าพัด เมื่อเทียบกับอักษรศิลป์ชนิดอื่นๆ แล้ว จะมีความบันเทิงมากกว่า จึงเป็นที่ชื่นชอบของผู้ทรงความรู้
ในสมัยที่ยังไม่มีพัดลมไฟฟ้าและเครื่องปรับอากาศ พัดยังคงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในชีวิตประจำวัน แม้แต่ในสมัยนี้ พัดก็ยังคงเป็นที่นิยมเช่นกัน เห็นได้จากเวลาเพื่อนบ้านบางคนถือพัดออกจากบ้าน โบกไปโบกมาใต้ต้นไม้ เพื่อคลายความร้อน ไล่ยุง กันแดด หรือบางคนอาจจะเลือกซื้อพัดมาเป็นเครื่องประดับ กระทั่งเป็นของสะสมที่สง่างามและล้ำค่า เมื่อพัดรวมเข้ากับบทกลอน จึงทำให้เกิดเป็นภาพที่แสนสวยงาม กลายเป็นศิลปหัตถกรรมชิ้นหนึ่ง กล่าวคือ บนพัดมีบทกลอนบทหนึ่ง หรือ ภาพเขียนพู่กันจีนภาพหนึ่ง รังสรรค์โดยศิลปินสาขาอักษรศิลป์จีน หรือ จิตรกรพู่กันจีน เมื่อคลี่ออกก็พัดเสียเพลิน จนไม่อยากจะวาง