ถึงแม้ว่า ปัจจุบัน มีนักท่องเที่ยวถ่ายภาพในมุมต่าง ๆ ของหอสมุดไปกันจนนับไม่ถ้วน แต่สำหรับคนที่ชอบอ่านหนังสือ ที่นี่ยังคงเป็นแหล่งพักพิงทางจิตใจของพวกเขาเหมือนเดิม
นายเมิ่ง เซี่ยงเฉียน อายุ 66 ปี ผู้จัดการ หอสมุดแห่งนี้ เป็นคนเมืองหลันโจว เขาเคยใช้ชีวิตในกรุงปักกิ่งหลายสิบปี ในทศวรรษ 1980 เขาเข้าศึกษาที่คณะบรรณารักษศาสตร์ มหาวิทยาลัยปักกิ่ง ต่อมาก็เริ่มทำงานเกี่ยวกับหนังสือมาโดยตลอด เขาสมัครเข้าทำงานตำแหน่งผู้รับผิดชอบ หอสมุดแห่งความเหงาก็เพราะไม่อยากใช้ชีวิตวัยเกษียณเหมือนผู้สูงอายุคนอื่น ซึ่งเขารู้สึกว่า ชีวิตแบบนั้นเต็มไปด้วยความเหงา แต่การใช้ชีวิตอยู่กับหนังสือทำให้พ้นจากความเหงาได้ ในที่สุด เขาเป็นผู้ผ่านการคัดเลือกจากผู้สมัครเกือบ 20,000 คน และกลายเป็นผู้รับผิดชอบคนแรกของหอสมุดแห่งนี้ หอสมุดแห่งนี้มีหนังสือกว่า 9,000 เล่ม ซึ่งมาจากการจัดซื้อของผู้ลงทุน และการบริจาคจากบุคคล หรือ แวดวงต่าง ๆ ในสังคม ทุกวันนี้ ไม่ว่าในหอสมุดจะมีคนมาอ่านหนังสือ หรือ มาเที่ยวชมแน่นสักเท่าไหร่ นายเมิ่ง ก็จะนั่งที่โต๊ะด้านในสุดของชั้นสอง ซึ่งเป็นจุดที่ห่างจากทะเลมากที่สุดในหอสมุด ใส่แว่น เปิดคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คไว้อ่านและจัดเรียงหนังสือตลอดทั้งวัน
1.2 - ศาลาประชาคม (Community Hall)
ริมชายฝั่งทะเลห่างจากหอสมุดประมาณ 300 เมตร เป็นที่ตั้งของศาลาประชาคมเขตอรัญญา อาคารสีขาวหลังคาสูงแหลมแห่งนี้ เป็นสถานที่ช่วยให้ผู้คนสงบจิตใจ สัมผัสกับธรรมชาติ และมีสติอยู่กับตัวเอง การจะขึ้นไปบนศาลาประชาคม ต้องขึ้นบันไดสูงสองชั้น ภายในมีเก้าอี้ยาว 4 - 5 แถว ข้างหน้าเป็นหน้าต่างบานใหญ่ที่สามารถมองเห็นผืนน้ำและท้องฟ้า ความสูงของอาคารหลังนี้ ทำให้มองไม่เห็นชายหาดและผู้คนหนาแน่นริมชายหาด จึงทำให้จิตใจสงบลงได้ง่าย นอกจากนี้ สถานที่แห่งนี้ยังใช้จัดคอนเสิร์ตและแสดงศิลปะในชุมชน สะท้อนแนวคิดปรัชญา ความดีงาม และคำอวยพรที่ดี