บทวิเคราะห์ : ก้าวสู่อารยธรรมนิเวศวิทยา ร่วมกันสร้างสรรค์ประชาคมสิ่งมีชีวิตในโลก
การประชุมครั้งที่ 15 ของประเทศภาคี “สนธิสัญญาความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต” (COP15)จะจัดขึ้นที่เมืองคุนหมิง เมืองเอกมณฑลหยุนหนาน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ในวันที่ 11 ตุลาคมนี้ ภายใต้หัวข้อ “ก้าวสู่อารยธรรมนิเวศวิทยา ร่วมกันสร้างสรรค์ประชาคมสิ่งมีชีวิตในโลก”
ในฐานะประเทศเจ้าภาพ จีนหวังว่า จะร่วมมือกับฝ่ายต่าง ๆ แลกเปลี่ยนและแบ่งปันประสบการณ์และผลงานด้านการอนุรักษ์ความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต จัดวางพิมพ์เขียวการอนุรักษ์ความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตใน 10 ปีข้างหน้า ตลอดจนใช้ปฏิบัติการใหม่เพื่อก้าวสู่อารยธรรมนิเวศวิทยา และร่วมกันสร้างสรรค์ประชาคมสิ่งมีชีวิตแห่งโลก
สนธิสัญญาความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตเป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศเกี่ยวกับการคุ้มครองสิ่งมีชีวิตในโลก โดยมีผลบังคับใช้เมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ. 1993 วัตถุประสงค์ของสนธิสัญญาฉบับนี้คือ คุ้มครองพฤกษชาติและสัตว์ป่าต่าง ๆ ที่ใกล้จะสูญพันธุ์ และอนุรักษ์ความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตในโลกอย่างเต็มที่ เพื่อสร้างความผาสุกทั้งในยุคปัจจุบันและอนาคต การประชุมของประเทศภาคีสนธิสัญญาฉบับนี้เป็นองค์กรกำหนดนโยบายระดับสูงสุดของสนธิสัญญา ซึ่งตั้งแต่ ค.ศ. 1994 เป็นต้นมา ผู้แทนจากบรรดาประเทศภาคีสนธิสัญญาฉบับนี้จะประชุมกันทุกสองปี เพื่ออภิปรายหารือถึงการอนุรักษ์ความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต
หลังจากได้เข้าร่วมสนธิสัญญาดังกล่าว จีนได้ประกาศใช้โครงการทางยุทธศาสตร์และปฏิบัติการเพื่ออนุรักษ์ความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตระหว่าง ค.ศ. 2011-2030 การคุ้มครองแพนด้า, ละมั่งทิเบต, นกช้อนหอยหงอน (Crested Ibis) และสัตว์ป่าหายากอื่นๆ นับเป็นภาพย่อของความสำเร็จในการอนุรักษ์ความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตของจีน
แพนด้าดำรงอยู่บนโลกอย่างน้อย 8 ล้านปีแล้ว โดยมีสมญานามว่า “ฟอสซิลที่มีชีวิต” ถือเป็นมรดกทางประวัติศาสตร์ธรรมชาติอันล้ำค่าของโลก โดยมีคุณค่ายิ่งต่อการวิจัยทางวิชาการ การดำรงอยู่และให้ความคุ้มครองแพนด้าจึงเป็นที่สนใจของชาวโลก
นอกจากนี้ แพนด้าเป็นสัตว์ที่มีชีวิตอยู่ในจีนประเทศเดียว ถือเป็นสมบัติล้ำค่าของจีน ซึ่งข้อมูลถึงเดือนมกราคม ค.ศ. 2021 จีนมีแพนด้าป่าจำนวน 1,864 ตัว ระดับความรุนแรงต่อสถานภาพของแพนด้าได้ผ่อนคลายจากใกล้สูญพันธุ์มาเป็นเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์
ละมั่งทิเบตถูกจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองระดับหนึ่งของจีน จีนได้ประกาศตั้งเขตคุ้มครองละมั่งทิเบตชื่อว่า เขตอนุรักษ์ธรรมชาติระดับชาติเขอเข่อซีหลี่ ค.ศ. 1997 เจ้าหน้าที่เขตอนุรักษ์ให้การคุ้มครองละมั่งทิเบตเหมือนกับเลี้ยงลูกของตน ช่วยให้จำนวนละมั่งทิเบตเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากไม่ถึง 20,000 ตัวมาเป็นกว่า 70,000 ตัวในปัจจุบัน ระดับความรุนแรงของสถานภาพละมั่งทิเบตได้เปลี่ยนจากระดับวิกฤตมาเป็นระดับปลอดภัยภายใต้แผนงานอนุรักษ์
นกช้อนหอยหงอนเป็นนกที่มีเฉพาะในเอเชียตะวันออก และมีสมญานามว่า “อัญมณีแห่งบูรพา” ด้วยความพยายามอย่างไม่ลดละมาเป็นเวลาหลายสิบปี จำนวนนกช้อนหอยหงอนในจีนได้เพิ่มจาก 7 ตัวเป็น 7,000 ตัวในปัจจุบัน การคุ้มครองนกช้อนหอยหงอนของจีนกลายเป็นตัวอย่างความสำเร็จของมนุษย์ในการช่วยชีวิตสัตว์ป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์
ด้านการปรับปรุงระบบนิเวศ บรรเทาภัยธรรมชาติ และรักษาพื้นที่การใช้ชีวิต จีนได้ดำเนินโครงการสร้างป่า “3 ภูมิภาคทางตอนเหนือ” ซึ่งเริ่มขึ้นตั้งแต่เมื่อปี 1978 และจะสร้างแล้วเสร็จในปี 2050 กินเวลาถึง 73 ปี ปัจจุบัน โครงการนี้ได้เข้าสู่ขั้นตอนสุดท้ายคือขั้นตอนที่ 3 แล้ว
“3 ภูมิภาคทางตอนเหนือ” ประกอบด้วยภูมิภาคทางตะวันตกเหนือ, ทางเหนือ และทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน เนื่องด้วยภูมิภาคเหล่านี้มีทะเลทราย 8 แห่ง พื้นที่ดินทราย 4 แห่ง และเขตทะเลทรายโกบีที่กว้างใหญ่ไพศาล ที่นั่น มีพายุทรายบ่อย หลายสิ่งหลายอย่างถูกทรายฝังกลบ พื้นดินมีลักษณะเป็นดินทราย การผลิตธัญญาหารได้ผลผลิตน้อยและไม่มั่นคง ทุ่งหญ้าเสื่อมสภาพอย่างรุนแรง อ่างเก็บน้ำจำนวนกว่า 100 แห่งกลายเป็นอ่างเก็บดินทราย
ด้วยเหตุนี้ โครงการปลูกป่า3 พื้นที่ทางตอนเหนือจึงมุ่งไปที่การรักษาป่าไม้และทุ่งหญ้าที่มีอยู่ในปัจจุบัน สร้างป่าเทียม โดยใช้เครื่องบินหว่านเมล็ดพันธุ์เพื่อปลูกป่า ปิดล้อมภูเขาและดินทรายเพื่อปลูกป่าและสร้างทุ่งหญ้า เพื่อสร้างสรรค์ระบบนิเวศที่ให้การเกษตร การป่าไม้ และการปศุสัตว์พัฒนาอย่างประสานกัน และด้วยความพยายามสร้างสรรค์เป็นเวลากว่า 40 ปี โครงการเพิ่มความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตใน 3 พื้นที่ดังกล่าวได้รับการฟื้นฟูในระดับหนึ่ง ได้ยับยั้งการขยายตัวของทะเลทราย อัตราการครอบคลุมของป่าไม้ได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สถิติจากสำนักงานป่าไม้และทุ่งหญ้าแห่งชาติจีนพบว่า โครงการสร้างป่าได้เพิ่มพื้นที่ป่าไม้รวม 30.14 ล้านเฮกตาร์ อัตราการครอบคลุมของป่าไม้ในพื้นที่ดังกล่าวได้เพิ่มจาก 5.05% มาเป็น 13.57%
ความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตเป็นพื้นฐานของการดำรงอยู่และการพัฒนาของสังคมมนุษย์ นายสี จิ้นผิง ผู้นำสูงสุดของจีนระบุว่า มนุษย์ในทุกวันนี้ได้เผชิญการท้าทายอย่างรุนแรงจากการสูญเสียความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต การเสริมสร้างการอนุรักษ์ความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต และการสร้างสรรค์อารยธรรมนิเวศ ไม่ใช่เรื่องที่จะประสบความสำเร็จได้ภายในเวลาอันสั้น ต้องการการสะสมเป็นเวลาอันยาวนาน ถือเป็นภารกิจที่ต้องปฏิบัติอย่างไม่ลดละต่อเนื่องเป็นเวลานาน ซึ่งจะทดสอบภูมิปัญญาของมนุษย์ และจะทดสอบความรับผิดชอบของประเทศต่าง ๆ จึงต้องการมีแนวคิดชี้นำที่ถูกต้อง และต้องการการผนึกกำลังในการใช้ปฏิบัติการร่วมกัน
การอนุรักษ์ความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตเป็นประเด็นสำคัญทั่วโลก ประชาคมโลกควรถือการประชุมครั้งที่ 15 ของประเทศภาคี “สนธิสัญญาความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต” เป็นโอกาส เพื่อก้าวสู่อารยธรรมนิเวศวิทยา และร่วมกันสร้างสรรค์ประชาคมสิ่งมีชีวิตบนโลก