ยูเอ็นเตือนทั่วโลกประสบภัยพิบัติเฉลี่ยวันละ 1.5 ครั้งภายในปี 2030
สำนักข่าวจีน รายงานว่า วันที่ 26 เมษายนตามเวลาท้องถิ่น สหประชาชาติออกคำเตือนว่า ภายในปี 2030 ทั่วโลกจะเกิดภัยพิบัติต่าง ๆ ประมาณ 560 ครั้งต่อปี การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการมองข้ามความเสี่ยงต่าง ๆ จะทำให้มนุษยชาติตกอยู่ในภาวะ “ทำลายตนเอง”
รายงานจากสำนักงานเพื่อการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติแห่งสหประชาชาติ (UNDRR) ระบุว่า ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ทั่วโลกประสบภัยพิบัติขนาดใหญ่และขนาดกลางจำนวน 350 - 500 ครั้งต่อปี คิดเป็น 5 เท่าเมื่อเทียบกับระดับเฉลี่ยเมื่อ 30 ปีก่อน
รายงานดังกล่าวคาดการณ์ว่า ในอนาคต ภัยแล้ง อุทกภัย สภาพอากาศสุดขั้ว และเหตุการณ์ภัยพิบัติต่าง ๆ จะเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ภายในปี 2030 ทั่วโลกจะประสบภัยพิบัติต่าง ๆ ประมาณปีละ 560 ครั้ง โดยเฉลี่ยวันละ 1.5 ครั้ง
รายงานดังกล่าวยังระบุด้วยว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ภัยพิบัติบนโลกก่อความเสียหายคิดเป็นมูลค่าถึง 170,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นอกจากนี้รายงานดังกล่าวยังคาดการณ์อีกว่าเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบจากภัยพิบัติต่าง ๆ ภายในปี 2030 ทั่วโลกจะมีประชากรจำนวน 37,600,000 คนใช้ชีวิตอย่างยากจนสุดขั้ว
นางมิซุโทริ มามิ ผู้รับผิดชอบสำนักงานเพื่อการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติแห่งสหประชาชาติระบุว่า ภัยพิบัติเป็นเรื่องที่สามารถป้องกันได้ แต่เงื่อนไขบังคับก่อนคือ ประเทศต่าง ๆ ต้องลงทุนทั้งด้านเวลาและทรัพยากร เธอเตือนด้วยว่า หากประเทศต่าง ๆ เจตนามองข้ามความเสี่ยงและไม่จัดการรับมือความเสี่ยงให้อยู่ขอบเขตการพิจารณาในขณะที่กำหนดนโยบายต่าง ๆ ความจริงนั้นคือการออกเงินทุนในการสร้างหายนะของตน