มาตรการช่วยเหลือประชาชนที่ตกทุกข์ได้ยากในท้องที่ต่างๆ ของจีน(ตอนจบ)
การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อการทำมาหากินและการดำรงชีวิตของประชาชนในวงกว้าง ทำให้ชาวจีนจำนวนหนึ่งได้ตกอยู่ในสภาวะที่ยากลำบาก ภายใต้การชี้นำของรัฐบาลจีน ท้องที่ต่างๆของจีนได้ออกมาตรการต่างๆเพื่อให้ความช่วยเหลือ เช่น การสร้างแพลตฟอร์มติดตามประชากรผู้มีรายได้ต่ำ การยกระดับมาตรฐานเงินประกันชีวิตขั้นต่ำและเงินอุดหนุน การบริการฝึกอบรมอาชีพเฉพาะด้าน เป็นต้น จากกรณีตัวอย่างดังต่อไปนี้สามารถมองเห็นสภาพความยากลำบากของประชาชนจีนจำนวนหนึ่งและความช่วยเหลือที่พวกเขาได้รับ
นางพ่าถีกู่ลี่.ไหม่ไม่ถี ผู้สูงวัยที่มีอายุ 60 ปี เธออาศัยอยู่ในอำเภอซูฟู่เขตคาสือโดยลำพังคนเดียว ไม่มีแหล่งรายได้ที่แน่นอน จึงต้องพึ่งพาเงินอุดหนุนตามนโยบายของภาครัฐในการประทังชีวิตประจำวันมาโดยตลอด ปีนี้เธอมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมากในการรักษาพยาบาล หลังจากหน่วยงานกิจการพลเรือนในท้องถิ่นรับทราบเรื่องนี้แล้ว ได้ให้ความช่วยเหลือชั่วคราวแก่เธออย่างทันท่วงที เพื่อประกันไม่ให้ชีวิตขั้นพื้นฐานของเธอได้รับผลกระทบและประกันไม่ให้เธอกลับไปสู่ความยากจน
จาก "คนหานโยบาย" สู่ "นโยบายหาคน" เขตหงฉีในเมืองซินเซียงมณฑลเหอหนานทางภาคกลางของจีนได้พัฒนาบริการช่วยเหลือทางสังคมให้เป็นระบบสารสนเทศที่สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้สะดวกมากขึ้น เพื่อเสริมสร้างการติดตามและการแจ้งเตือนล่วงหน้าในเรื่องประชาชนที่ประสบความยากลําบาก และดําเนินการช่วยเหลืออย่างแม่นยำ เมื่อเร็ว ๆ นี้ สํานักงานกิจการพลเรือนเขตหงฉีได้ดำเนินการสำรวจแบบครอบคลุมด้วย "บิ๊กดาต้า" ผ่านการเชื่อมโยงระบบข้อมูลกับสํานักงานกิจการรักษาพยาบาลเขตหงฉี และพบว่าครอบครัวของนายต่งกำลังประสบปัญหามีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่ายเนื่องจากเกิดค่ารักษาพยาบาลค่อนข้างมากจากการส่งลูกที่ป่วยหนักเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล จึงได้ให้เจ้าหน้าที่ติดต่อประสานกับนายต่งเชิงรุก พร้อมกับส่งมอบ “นโยบาย”และความช่วยเหลือไปถึงบ้านของเขา
ไม่เพียงแต่เมืองซินเชียงเท่านั้น ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาทั่วทั่งมณฑลเหอหนานได้เสริมสร้างระบบการติดตามประชากรที่มีรายได้น้อยแบบไดนามิก เพื่อยกระดับการคัดกรองและช่วยเหลือประชากรที่มีรายได้ต่ำ ปัจจุบันได้รวบรวมข้อมูลต่างๆเกี่ยวกับประชากรผู้มีรายได้ต่ำ ซึ่งรวมถึงประชาชนที่ประสบความยากลำบากเป็นพิเศษหรือเป็นผู้รับการดูแลด้านการดำรงชีวิตตามมาตรฐานขั้นต่ำสุดจากภาครัฐจำนวน 3.7 ล้านราย และประชาชนที่มีรายได้ต่ำที่อยู่ชายขอบการดำรงชีวิตตามมาตรฐานขั้นต่ำสุดหรือประสบความยากลำบากเนื่องจากมีค่าใช้จ่ายจำเป็นที่เพิ่มขึ้นจำนวน 250,000 คน
กล่าวสำหรับประชาชนที่ประสบความยากลำบากแล้ว ตำแหน่งงานและแหล่งรายได้ที่มั่นคงถือเป็นมาตรการที่ตรงและมีประสิทธิภาพที่สุดในการช่วยเหลือพวกเขา เนื่องด้วยผลกระทบจากโควิด-19 ร้านอาหารเล็กๆ ในอำเภอเมืองที่ดำเนินการโดยนางเกา เจ๋ออิง ซึ่งเคยขึ้นทะเบียนเป็นคนงานยากจนได้ปิดตัวลง
“การเปิดร้านอาหารนั้นทำได้เพียงประทังชีวิตไปวันๆ โอกาสการฝึกอบรมฟรีที่รัฐบาลจัดให้อย่างทันท่วงทีนั้น ทำให้ดิฉันได้เรียนรู้ทักษะเฉพาะด้าน” เกา เจ๋ออิง กล่าวกับผู้สื่อข่าว
ปี 2020 เกา เจ๋ออิงได้เริ่มทำงานเป็นพี่เลี้ยงเด็กทารกแรกเกิดในเมืองอู่ฮั่นหลังจากเข้าร่วมการฝึกอบรมผู้ประกอบอาชีพเลี้ยงดูเด็กทารกเป็นเวลาสามสัปดาห์ที่สำนักงานกิจการบุคคลากรและจัดหางานสาธารณะของอำเภอเป่าคัง มณฑลหูเป่ยทางภาคกลางของจีน
ตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นต้นมา มณฑลหูเป่ยได้ดำเนินการฝึกอบรมตาม “ออเดอร์”หรือความต้องการของตลาดและกลุ่มเป้าหมายอย่างแข็งขัน เพื่อยกระดับทักษะการทำงานของคนงาน โดยพิจารณาจากอุตสาหกรรมที่มีเอกลักษณ์และความต้องการด้านการจ้างงานในท้องถิ่น ท้องที่ต่างๆ ได้จัดตั้งประเภทการฝึกอบรมวิชาชีพที่ได้รับเงินอุดหนุนมากกว่า 150 ประเภท ผู้รับการฝึกอบรมสามารถรับเงินอุดหนุนสำหรับการฝึกอบรมทักษะการทำงานหรือเงินอุดหนุนสำหรับการฝึกอบรมผู้ประกอบธุรกิจใหม่ ข้อมูลระบุว่าตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ปี 2019 ถึงวันที่ 20 เมษายน 2022 ทั่วทั้งมณฑลหูเป่ยได้เปิดคอร์สฝึกอบรมทักษะการทำงานทั้งหมด 28,600 ครั้ง จัดฝึกอบรมสำหรับการหางานใหม่หรือการประกอบธุรกิจเองให้กับผู้ทำงานทั้งในเมืองและชนบทรวมกว่า 1.99 ล้านคน ได้มอบเงินอุดหนุนการฝึกอบรมวิชาชีพให้กับคนงานกว่า 1.78 ล้านคน
เกา เจ๋ออิง กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า "ปัจจุบันดิฉันมีออเดอร์เข้ามาอย่างต่อเนื่อง หลังจากหักค่าใช้จ่ายประจำวันและค่าใช้จ่ายด้านการเรียนของลูกแล้ว ยังสามารถมีเงินเหลือเก็บเป็นกอบเป็นกำมากกว่า 50,000 หยวนต่อปี"
ตามข้อมูลสถิติของกระทรวงกิจการพลเรือนของจีน เมื่อปี 2021 ทั่วประเทศจีนมีประชาชนผู้รับการประกันชีวิตขั้นต่ำสุดทั้งในเมืองและชนบทจำนวน 42.82 ล้านคน มาตรฐานถัวเฉลี่ยของการประกันชีวิตขั้นต่ำสุดในเมืองทั่วประเทศคือ 617 หยวน /เดือน/คน ส่วนมาตรฐานถัวเฉลี่ยของการประกันชีวิตขั้นต่ำสุดในชนบททั่วประเทศคือ 5247 หยวน /ปี/คน เพิ่มขึ้น 7.4% และ10.4% ตามลำดับหากเทียบกับปี 2020
ปัจจุบัน ทั่วประเทศจีนมี 4 พื้นที่ที่มาตรฐานการประกันชีวิตขั้นต่ำสุดในชนบทเกิน 10,000 หยวน คือนครเซี่ยงไฮ้ (15,875หยวน) ปักกิ่ง(14,940หยวน) เทียนสิน(12,120หยวน)และมณฑลเจ้อเจียง(11072หยวน) โดยเจ้อเจียงเป็นมณฑลเดียวที่ได้ใช้มาตรฐานเดียวกันในเขตเมืองและเขตชนบทเหมือนกับนครเซี่ยงไฮ้ ปักกิ่งและเทียนสิน
BO/LU