ผู้เชี่ยวชาญไทยชี้ ความตกลง RCEP เป็นแรงผลักดันยกระดับการแข่งขันของประเทศสมาชิก
การลงนาม “ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค” หรือ RCEP เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ถือเป็นชัยชนะร่วมกันที่ยิ่งใหญ่ของทั้ง 10 ประเทศสมาชิกอาเซียนและ 5 ประเทศคู่เจรจา ซึ่งประกอบด้วย จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ทั้งยังถือเป็นเรื่องสำคัญที่ทั่วโลกจับตามอง
โอกาสนี้ ผู้สื่อข่าวสถานีวิทยุและโทรทัศน์ส่วนกลางจีน (CMG) ได้สัมภาษณ์ รศ.ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการการต่างประเทศวุฒิสภา และผู้เชี่ยวชาญจีนศึกษา โดยเธอกล่าวเน้นว่า ในภาพใหญ่ เขตการค้าเสรี RCEP จะเป็นแต้มต่อในการเข้าสู่ตลาดประเทศขนาดใหญ่อย่างจีน แต่ผู้ประกอบการไทยต้องศึกษากฎระเบียบในระดับมณฑลของจีนด้วย พร้อมเร่งปรับตัวเพื่อแสวงหาโอกาสจากการหันมาค้าขายกันเองในภูมิภาคมากขึ้นในยุคหลังโควิด-19
ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น ระบุระหว่างให้สัมภาษณ์ว่า เป็นที่น่ายินดีที่ไทยสามารถเข้าร่วมความตกลง RCEP ซึ่งใช้เวลาเจรจานาน 7 - 8 ปี และ RCEP จะเป็นความตกลงการค้าเสรีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก นอกจาก 10 ประเทศสมาชิกอาเซียนแล้ว ยังมีจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์เข้าร่วมด้วย ในภาพรวมการเข้าร่วม RCEP จะเป็นแรงผลักให้เกิดการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศสมาชิก
ในยุคหลังโควิด-19 ประเทศในภูมิภาคซึ่งรวมถึงไทยและจีนด้วยจะหันมาร่วมมือและค้าขายกันมากขึ้น ซึ่งจะช่วยขยายการผลิต การจ้างงาน และเป็นโอกาสในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในแต่ละประเทศสมาชิกให้เติบโตต่อไป
นอกจากนี้ ความตกลง RCEP ยังถือเป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้เกิดการสร้างเครือข่ายการผลิตที่จะกลายเป็นห่วงโซ่คุณค่าในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกมากขึ้น
เมื่อมีความตกลง RCEP ระหว่างกันแล้ว แต่ละประเทศสมาชิกจะให้สิทธิประโยชน์ทางการค้าต่อกัน เอื้อให้ผู้ประกอบการมีโอกาสได้สิทธิประโยชน์ทางการค้า การลงทุน และภาคบริการระหว่างสมาชิกที่ลงนามความตกลง RCEP ซึ่งถือเป็นแต้มต่อสำคัญโดยเฉพาะในการเปิดตลาดขนาดใหญ่อย่างจีน
สำหรับสินค้าหรือบริการสาขาใดของไทยที่จะได้ประโยชน์จาก RCEP กระทรวงพาณิชย์ไทยได้ศึกษาวิเคราะห์พบว่า ประโยชน์ที่คาดว่าไทยจะได้รับจากการเข้าร่วม RCEP ในครั้งนี้ ได้แก่ การเปิดตลาดการค้าและการลงทุนในประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย โดยสินค้าที่คาดว่าจะได้ประโยชน์นั้นมีทั้งหมวดสินค้าเกษตร โดยเฉพาะแป้งมันสำปะหลัง ผลไม้อย่างสับปะรด และสินค้าประมง รวมทั้งหมวดอาหาร ซึ่งมีทั้งผักและผลไม้แปรรูปต่าง ๆ เช่น น้ำมะพร้าว น้ำส้ม และอาหารแปรรูปต่าง ๆ หมวดสินค้าอุตสาหกรรม เช่น อุปกรณ์ไฟฟ้า พลาสติก เคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องนุ่งห่ม เครื่องแต่งกาย และจักรยานยนต์ ตลอดจนหมวดบริการซึ่งคาดว่าจะได้ประโยชน์เช่นกัน รวมถึงหมวดการก่อสร้าง ธุรกิจด้านสุขภาพ ธุรกิจด้านบันเทิง และธุรกิจด้านค้าปลีก เป็นต้น
อย่างไรก็ดีใช่ว่าโอกาสจากการค้าจะเกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ หากแต่ภาคธุรกิจต้องปรับตัว ต้องเรียนรู้ ต้องเร่งศึกษาการใช้ประโยชน์จากข้อตกลงเหล่านี้ รวมทั้งควรเรียนรู้กฎระเบียบระดับท้องถิ่น เช่น การจะส่งออกไปตลาดจีนยังมีระเบียบระดับมณฑลที่ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ที่ไม่ได้เข้าร่วมความตกลง RCEP สิ่งที่กล่าวมาถือเป็นโอกาสและแต้มต่อของผู้ประกอบการไทยในฐานะสมาชิก RCEP
ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น กล่าวทิ้งท้ายว่า ภายหลังเกิดการระบาดของโควิด-19 เศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะประเทศตะวันตกเผชิญผลกระทบอย่างหนัก มีการเติบโตติดลบ ดังนั้น การที่ประเทศในภูมิภาคเอเชียหันมาค้าขายกันเองภายใต้สภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยจากความตกลง RCEP ถือเป็นโอกาสสำคัญสำหรับประเทศสมาชิก ดังนั้น ผู้ประกอบการในประเทศสมาชิกควรเร่งหาหนทางใช้ประโยชน์จากผลสำเร็จครั้งนี้ พร้อมไปกับการปรับตัว ทั้งนี้ คาดว่า ความตกลง RCEP จะมีส่วนช่วยให้การค้าและการลงทุนระหว่างกันขยายตัวมากขึ้น ตลอดจนภูมิภาคเอเชียจะมีห่วงโซ่คุณค่าที่เชื่อมโยงกันมากขึ้น
TIM/LU