น้ำประปาเค็มกลับจืด ด้วยนาโนเทคจากวิศวฯ จุฬาฯ
นอกจากนี้กว่า 3 ปี ศูนย์ฯ ได้ร่วมมือกับศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (NANOTEC) ศึกษาวิจัยนาโนเทคโนโลยีอัจฉริยะเพื่อแก้ปัญหาความเค็มในน้ำประปาด้วยวัสดุชนิดใหม่และใช้กระแสไฟฟ้าจับแยกอนุภาคเกลือออกจากน้ำซึ่งเรียกกระบวนการนี้ว่า “Electrodialysis”
อ.ดร.เจนยุกต์ โลห์วัชรินทร์
“การกรองน้ำปกติแบบ RO (Reverse Osmosis) นอกจากการใช้ RO Membrane แล้ว เรายังทำงานวิจัยเกี่ยวกับการใช้วัสดุกรองน้ำหรือเมนเบรนใหม่ๆ ในการแยกเกลือออกจากน้ำ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาเมมเบรนที่สามารถกักกรองอนุภาคระดับฟลูโอไรด์ที่มีขนาดเล็กละเอียดยิบมากที่สุดที่เรียกว่า Ultrafiltration Membrane และใช้พลังงานไฟฟ้า (Electrodialysis) ผลักดันอนุภาคเกลือออกไปจากน้ำโดยใช้แรงดันน้ำน้อยแต่ได้คุณภาพน้ำที่ดีเช่นกัน” อ.ดร.เจนยุกต์ โลห์วัชรินทร์ ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ศ.อรุณ สรเทศน์ กล่าวถึงงานวิจัยที่ให้ผลน่าพอใจ
เทคโนโลยีทำน้ำเกลือให้จืดกำลังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนา ซึ่งคาดว่าอีกไม่ช้าทางศูนย์ฯจะได้นำออกมาให้บริการกับประชาชน ซึ่งในระหว่างนี้ อ. ดร.เจนยุกต์ แนะให้ผู้บริโภคดื่มน้ำที่ผ่านการระบบการกรอง อย่าง RO (Reverse Osmosis) ให้ถูกวิธีเพื่อสุขภาพ
“การกรองน้ำผ่านระบบ RO ผู้บริโภคจะได้น้ำที่สะอาด ปราศจากความเค็มจากโซเดียมคลอไรด์ แต่ก็ปราศจากแร่ธาตุทุกชนิดด้วยเช่นกัน ซึ่งไม่เหมาะที่จะดื่มเป็นประจำเพราะจะทำให้ร่างกายขาดแร่ธาตุได้”
“วิธีการที่ดีคือให้นำน้ำที่ผ่านกระบวนการ RO อย่างสมบูรณ์มาผสมกับน้ำที่ผ่านกระบวนการกรองระดับเบื้องต้น คือ กรองความขุ่น กรองกลิ่นคลอรีนและกำจัดความกระด้างของน้ำ อย่างนี้ เราก็จะได้น้ำสะอาดที่มีความพอดี ไม่มีผลกระทบจากเกลือ แต่ยังคงมีแร่ธาตุสำคัญบางอย่างหลงเหลืออยู่” อ. ดร.เจนยุกต์ แนะ
นอกจากการดูแลน้ำดื่มภายในครัวเรือนแล้ว วิศวกรสิ่งแวดล้อมทั้งสองชักชวนให้ทุกคนช่วยกันลดการใช้น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อรักษาแรงดันน้ำในแม่น้ำให้เป็นปกติมากที่สุด รวมทั้งหลีกเลี่ยงการใช้หรือสำรองน้ำในช่วงน้ำทะเลหนุนสูง (14.00 – 16.00 น.) ที่สำคัญ ลดการบริโภคอาหารรสเค็ม