ภาษา:ภาษาไทย

ปรัชญาเล่าจื๊อ : เน้นการดำเนินชีวิตตามหลักธรรมชาติ (1)

criPublished: 2021-10-18 15:37:45
Share
Share this with Close
Messenger Pinterest LinkedIn

คุณผู้ฟังครับ ในรายการครั้งนี้ เราจะมาแนะนำปรัชญาของเล่าจื๊อ นักปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่อีกท่านหนึ่งในประวัติศาสตร์จีน

คัมภีร์ “เต้าเต๋อจิง” ได้ถูกประพันธ์ขึ้นช่วงศตวรรษที่ 6 ก่อนคริสต์ศักราช นักวิชาการส่วนใหญ่เห็นว่า เล่าจื๊อ ผู้รักสันโดษช่วงปลายสมัยชุนชิว (770 – 476 ปีก่อนค.ศ.) เป็นผู้ประพันธ์คัมภีร์เล่มนี้ขึ้น ข้อมูลทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับเล่าจื๊อมีน้อยมาก เล่ากันว่า เล่าจื๊อเคยรับราชการ เป็นบรรณารักษ์ในห้องสมุดแห่งราชสำนักของราชวงศ์โจว เขาเป็นคนที่มีความรู้มาก ขงจื๊อ นักปราชญ์ที่ยิ่งใหญ่เคยเดินทางนับพันลี้ ไปพบเล่าจื๊อ เพื่อขอความรู้จากท่าน

คัมภีร์ “เต้าเต๋อจิง” หรือคัมภีร์เกี่ยวกับวิถีทาง และคุณธรรมมีตัวอักษรจีนเพียงประมาณ 5,000 ตัว รวม 81 บท โดยแบ่งออกเป็นสองส่วน คือส่วนที่เกี่ยวกับวิถีทาง และส่วนที่เกี่ยวกับคุณธรรม

แม้คัมภีร์เล่มนี้มีตัวอักษาจีนเพียงประมาณ 5,000 ตัวเท่านั้น แต่กลับมีอิทธิพลมากต่อวิวัฒนาการของวัฒนธรรมจีน และกลายเป็นพื้นฐานของลัทธิเต๋า ซึ่งเป็นปรัชญาที่มีความสำคัญยิ่งควบคู่ไปกับลัทธิขงจื๊อในสมัยโบราณของจีน ลัทธิเต๋า ถือเป็นศาสนาท้องถิ่นที่มีอิทธิพลมากที่สุดในจีน ความคิดของเล่าจื๊อ มีอิทธิพลโดยตรงต่อเอกลักษณ์ แนวความคิด และความนิยมด้านสุนทรียะของประชาชาติจีนอย่างมาก จนถึงทุกวันนี้ คัมภีร์ “เต้าเต๋อจิง” ยังคงมีบทบาทสำคัญต่อแนวความคิดของชาวจีน

คัมภีร์ “เต้าเต๋อจิง” เริ่มเผยแพร่ไปยังยุโรปตั้งแต่ศตวรรษที่ 15 และเป็นหนึ่งในคัมภีร์ปรัชญาในสมัยโบราณของจีนที่ได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศมากที่สุด แนวความคิดทางปรัชญาของเล่าจื๊อเน้นการดำเนินชีวิตตามหลักธรรมชาติ และความเรียบง่าย

“การดำเนินชีวิตตามหลักธรรมชาติ” เป็นหนึ่งในความคิดสำคัญทางปรัชญาของเล่าจื๊อ เล่าจื๊อเน้นว่า สรรพสิ่งทุกอย่างในโลกมีสภาพความเป็นอยู่ และหนทางการพัฒนาของมันเอง เช่น นกบินอยู่บนท้องฟ้า ปลาว่ายอยู่ในน้ำ เมฆลอยอยู่บนท้องฟ้า ดอกไม้บานและร่วง ปรากฏการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ไม่ได้เป็นไปตามความต้องการของมนุษย์ มนุษย์จึงไม่ควรพยายามที่จะไปเปลี่ยนแปลงความเป็นธรรมชาติของสรรพสิ่งทั้งหลาย รวมทั้งชีวิตมนุษย์ด้วย เล่าจื๊อเตือนมนุษย์ว่า อย่าหวังที่จะไปควบคุมโลก การดำเนินชีวิตตามหลักธรรมชาติจึงเป็นแนวทางที่ถูกต้องในการแก้ไขความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับโลก

“อู๋เหวย” เป็นความคิดสำคัญทางปรัชญาอีกประการหนึ่งของเล่าจื๊อ “อู๋เหวย” ไม่ได้หมายความว่ามนุษย์ไม่ต้องทำอะไร หรือให้อยู่เฉยๆ และก็ไม่ได้ปฏิเสธความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ อันที่จริงแล้ว ความหมายของคำว่า “อู๋เหวย”ในปรัชญาของเล่าจื๊อ หมายความว่า ภารกิจทุกอย่างของมนุษย์ต้องไม่ละเมิดกฎแห่งธรรมชาติ ต้องไม่รบกวนจังหวะของธรรมชาติ ความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ต้องมีความสอดคล้องและกลมกลืนกับธรรมชาติ

เล่าจื๊อกล่าวว่า ความเฉลียวฉลาดที่ยิ่งใหญ่อาจดูเหมือนเป็นความโง่เขลา นี่เป็นแก่นแท้ของหลักปรัชญาการดำเนินชีวิตตามธรรมชาติ ความเฉลียวฉลาดที่ยิ่งใหญ่เป็นความฉลาดในระดับสูงสุด เกิดขึ้นตามธรรมชาติล้วนๆ จึงไม่เหมือนความฉลาดแบบธรรมดาสามัญเลยแม้แต่นิด ความฉลาดแบบธรรมดาสามัญสามารถเกิดจากการใช้ความพยายามของมนุษย์ แต่ความฉลาดที่ยิ่งใหญ่นั้นมีความเหนือกว่าความฉลาดแบบธรรมดาสามัญอย่างมาก ในมุมมองของเล่าจื๊อ การใช้อุบายเล่ห์กลจะไม่เป็นประโยชน์ใดทั้งสิ้น และมักจะนำไปสู่การเกิดผลตรงกันข้ามกับความปรารถนาด้วย เพราะผู้ที่ชอบใช้อุบายเล่ห์กลไม่ให้ความเคารพความเป็นจริง จึงไม่ได้ให้ทุกอย่างเป็นไปตามหลักธรรมชาติ ดังนั้น การใช้อุบายเล่ห์กลจึงเป็นการทำลายความเป็นธรรมชาติและชีวิตที่มีความกลมกลืน

จวงจื๊อ นักปรัชญาผู้สืบทอดหลักปรัชญาของเล่าจื๊อเคยเล่าเรื่องต้นไม้ไร้ประโยชน์ว่า

ครั้งหนึ่ง ช่างไม้คนหนึ่งพาลูกศิษย์เดินทางไปยังรัฐฉี ระหว่างทาง เจอต้นไม้ยักษ์ต้นหนึ่งที่อยู่ข้างวัดเทพเจ้าที่ดิน ต้นไม้นี้มีลำต้นที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางหลายสิบเมตร มีความสูงเท่าภูเขา มีกิ่งก้านที่ให้เงาร่มแก่ปศุสัตว์หลายพันตัว มีคนจำนวนมากเดินทางมาบูชาต้นไม้นี้ แต่ช่างไม้ดังกล่าวกลับเดินผ่านเฉย โดยไม่มองต้นไม้นี้แม้แต่สายตาเดียว ลูกศิษย์ของช่างไม้คนนี้กลับรู้สึกตื่นตาตื่นใจกับต้นไม้นี้อย่างมาก โดยเดินเข้าใกล้และเพ่งพินิจอย่างละเอียด จากนั้น ก็วิ่งไปตามเจ้านายและถามว่า หลังจากมาฝึกงานกับท่าน ยังไม่เคยเจอต้นไม้ที่ดีเช่นนี้ แต่ทำไมท่านเดินผ่านเฉย ไม่มองต้นไม้นี้แม้สายตาเดียว ช่างไม้ตอบว่า ไม้ของต้นไม้นี้ใช้ประโยชน์อะไรก็ไม่ได้ หากนำไปต่อเรือ เรือจะจมลงไปในน้ำ หากนำไปทำเป็นโลงศพ โลงศพจะผุพังง่าย หากนำไปทำเป็นภาชนะ ภาชนะจะเสื่อมเสียง่าย สรุปได้ว่า ไม้ของต้นไม้นี้ใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้เลยทั้งสิ้น และนี่ก็เป็นสาเหตุที่ทำไมต้นไม้นี้อยู่ได้นานขนาดนี้ ปัญญาของต้นไม้นี้อยู่ที่ไร้ประโยชน์ หรือ พูดในอีกมุมหนึ่งว่า มันอยู่ตามหลักธรรมชาติ

จากหลักปรัชญาที่ให้ดำเนินชีวิตตามหลักธรรมชาติ เล่าจื๊อแสดงความคิดเห็นว่า ต้องรู้จักความอ่อนโยน ใช้ความอ่อนโยนพิชิตความเข้มแข็ง ยุคที่เล่าจื๊ออาศัยอยู่ มีสงครามเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น สงครามจึงกลายเป็นประเด็นสำคัญของนักปรัชญา และความคิดต่อต้านสงครามกลายเป็นกระแสหลักในยุคนั้น เช่น ซุนจื่อ ผู้เขียนพิชัยสงครามอันโด่งดังไปทั่วโลกในสมัยนั้นยังแสดงความคิดเห็นว่า รบร้อยชนะร้อย ยังไม่นับว่าประเสริฐสุด การศึกที่ชนะโดยมิต้องรบ จึงนับเป็นเลิศเหนือกว่าทั้งปวง ขงจื๊อ นักปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่สนับสนุนให้บริหารประเทศบนพื้นฐานรักประชาชนทั่วไป โม่จื๊อ นักคิดในสมัยเดียวกันก็ประณามการทำสงคราม และเรียกร้องให้คนในสังคมต้องรักกัน

เล่าจื๊อเห็นว่า สงครามเกิดจากความอยากของคน ความขัดแย้งเกิดจากการใช้ความพยายามเพื่อสนองความต้องการของคนเรา เมื่อความขัดแย้งทวีความรุนแรงขึ้นก็จะกลายเป็นสงคราม ดังนั้น หลักปรัชญาของเล่าจื๊อเน้น ปราศจากความขัดแย้ง เล่าจื๊อเห็นว่า การชิงดีชิงเด่นเป็นต้นเหตุที่จะนำไปสู่การเสื่อมทราม ชีวิตที่ปราศจากความโลภจึงเป็นชีวิตที่เป็นไปตามหลักธรรมชาติ

เล่าจื๊อเคยเอาน้ำมาเปรียบเทียบหลักปรัชญาที่เน้นการดำเนินชีวิตตามหลักธรรมชาติ เล่าจื๊อกล่าวว่า คุณธรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเสมือนดั่งเป็นน้ำ เขากล่าวว่า น้ำหล่อเลี้ยงชีวิตมนุษย์ และสรรพสิ่งทุกอย่างในโลก แต่น้ำไม่เคยแย่งชิงอะไรกับใคร ในสายตาของเล่าจื๊อ คนเรานิยมแสวงหาตำแหน่งที่สูงกว่า ขณะที่น้ำมักจะไหลไปยังพื้นที่ต่ำ ภายใต้พลังขับเคลื่อนจากความอยาก มนุษย์เราชอบสิ่งที่เราคิดว่า มีความเหนือกว่า และดูถูกสิ่งที่เราเห็นว่า มีความด้อยกว่า แต่น้ำไหลไปยังที่ต่ำเสมอ น้ำได้หล่อเลี้ยงสิ่งมีชีวิตทุกอย่างในโลก น้ำได้สร้างคุณูปการให้แก่โลกโดยไม่คำนึงถึงส่วนได้ส่วนเสียของตน และจะอยู่ในที่ต่ำ ที่เรียบ ที่สงบอยู่เสมอ แนวทางของน้ำแตกต่างไปจากแนวทางของคนที่มีความอยากมากมาย

อย่างไรก็ตาม หลักปรัชญาของเล่าจื๊อไม่ใช่ปรัชญาเกี่ยวกับความอ่อนแอ ตรงกันข้าม เป็นปรัชญาที่เปี่ยมด้วยพลัง เล่าจื๊อเห็นว่า น้ำสะสมพลังที่ยิ่งใหญ่ท่ามกลางความอ่อนโยนและความสงบ พลังของน้ำสามารถขจัดอุปสรรคทุกอย่างในโลก เล่าจื๊อยังกล่าวด้วยว่า ไม่มีสิ่งใดในโลกที่อ่อนโยนกว่าน้ำ แต่ก็ไม่มีอะไรที่มีพลังเหนือกว่าน้ำในการพิชิตความเข้มแข็ง น้ำเป็นแบบอย่างแห่งความอ่อนโยนชนะความเข้มแข็ง สาเหตุที่น้ำชนะอยู่เสมอ ก็เป็นเพราะว่าน้ำปราศจากความอยาก และไม่ต้องการแย่งชิงอะไรกับใคร

Share this story on

Messenger Pinterest LinkedIn