บทวิเคราะห์ : จิตสำนึกการคุ้มครองความหลากหลายสิ่งมีชีวิตนับวันหยั่งรากลึกลงในหัวใจประชาชนจีน
วันที่ 11 ตุลาคม การประชุมสมัชชาครั้งที่ 15 ของประเทศภาคี “สนธิสัญญาว่าด้วยความหลากหลายสิ่งมีชีวิต” (COP15) เริ่มจัดประชุมระยะแรกที่เมืองคุนหมิง เมืองเอกมณฑลหยุนหนาน(ยูนนาน)ของจีน กว่า 190 ประเทศภาคีเข้าร่วมการประชุมที่ถูกจับตามองอย่างมากครั้งนี้ ซึ่งจะเปิดหน้าใหม่แห่งการคุ้มครองความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตทั่วโลก ผ่านการกำหนด “กรอบความหลากหลายสิ่งมีชีวิตทั่วโลกหลังปี 2020 ”
ความหลากหลายสิ่งมีชีวิตเกี่ยวข้องกับความผาสุกของมนุษยชาติและเป็นรากฐานสำคัญในการอยู่รอดและการพัฒนาของมนุษย์ การดำรงอยู่ของมนุษยชาติมากกว่า 3,000 ล้านคนทั่วโลก ล้วนต้องพึ่งพาสิ่งมีชีวิตอันหลากหลายทางทะเลและชายฝั่งทะเล และผู้คนมากกว่า 1,600 ล้านคนต้องพึ่งพาป่าไม้และผลิตภัณฑ์จากป่าที่นอกเหนือจากไม้ ส่วนผสมกว่า 50% ของยารักษาโรคในโลกก็มาจากพืชและสัตว์ในธรรมชาติ ความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตจึงมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับคุณภาพระบบนิเวศ ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อปัจจุบันเท่นนั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับอนาคตอีกด้วย
ผลสำเร็จอันเด่นชัดในด้านการอนุรักษ์ความหลากหลายสิ่งมีชีวิตของจีน เป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่การประชุมสมัชชาครั้งนี้ได้เลือกจีนเป็นสถานที่จัดการประชุม วันที่ 9 ตุลาคมที่ผ่านมา ณ ศูนย์ข่าวของการประชุม COP15 ขณะแลกเปลี่ยนกับสื่อมวลชนเกี่ยวกับสภาวะปัจจุบันแห่งการคุ้มครองความหลากหลายสิ่งมีชีวิตทั่วโลกและความท้าทายที่กำลังเผชิญอยู่นั้น เลขาธิการบริหารสำนักเลขาธิการ “สนธิสัญญาว่าด้วยความหลากหลายสิ่งมีชีวิต” แห่งสหประชาชาติได้แสดงความชื่นชมว่า จีนเป็นผู้สนับสนุนและผู้สร้างคุณูปการที่ทรงพลังในวาระความหลากหลายสิ่งมีชีวิตทั่วโลกมาโดยตลอด ทั้งยังเป็นหนึ่งในประเทศบริจาคเงินทุนรายใหญ่ที่สุดในงบประมาณหลักของสนธิสัญญาและพิธีสาร