บทวิเคราะห์ : มองให้เห็นธาตุแท้ “กรอบเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก” ของสหรัฐฯ
ทว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สหรัฐฯได้กระทำการตามอำเภอใจเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง ก่อนอื่นได้ถอนตัวออกจาก “ข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP)” ที่ริเริ่มโดยสหรัฐฯเอง ตามมาด้วยการดำเนินการฝ่ายเดียวหรือเอกภาคีนิยม(unilateralism) และการกีดกันทางการค้า(Protectionism)อย่างขนานใหญ่ ปัจจุบัน สหรัฐฯ เพิกเฉยต่อกลไกและข้อตกลงทางการค้าที่มีอยู่แล้วในภูมิภาค ยืนกรานที่จะสร้างระบบใหม่ ใน“กระดูก”ของ"กรอบเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก"นั้นแฝงไว้ด้วย “ยีน” ของ "อเมริกาต้องมาก่อน" โดยมีความมุ่งหมายพื้นฐานคือการใช้กรอบฯนี้ เป็นเครื่องมือในการชักจูงและบีบบังคับประเทศต่างๆในภูมิภาคให้เลือกข้าง พฤติกรรมเช่นนี้จะส่งเสริมความเจริญรุ่งเรืองและการพัฒนาร่วมกันในภูมิภาคนี้ได้อย่างไร? อีกทั้ง "กรอบเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก" ยังจะบ่อนทำลายความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ที่ริเริ่มและนำโดยอาเซียนด้วย ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนคำมั่นสัญญาของรัฐบาลโจ ไบเดนที่ว่าจะเคารพความเป็นศูนย์กลางของอาเซียนในกิจการของภูมิภาคนี้
อันที่จริง แม้ว่าเกาหลีใต้และญี่ปุ่นได้แสดงว่าจะเข้าร่วม "กรอบเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก" แต่มีสื่อญี่ปุ่นได้ชี้ให้เห็นว่า นับถึงปัจจุบันเนื้อหาและวิธีการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมของกรอบฯนี้มีความคลุมเครือมาก อีกทั้งยังอาจจะเผชิญความยากลำบากมากมายในอนาคต สหรัฐฯจะจัดการเลือกตั้งกลางเทอมในเดือนพฤศจิกายนปีนี้ เนื่องด้วยปัญหาความโกลาหลในห่วงโซ่อุปทานภายในประเทศ แรงงานไม่เพียงพอ อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น ประชาชนมีความไม่พอใจมากมาย และอื่นๆ ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ ปธน.โจ ไบเดนจะเผชิญกับการทดสอบอย่างหนักในเรื่องจะสามารถจัดสรรต้นทุนทางการเมืองที่เพียงพอให้กับกรอบเศรษฐกิจนี้ได้หรือไม่ มีผู้เชี่ยวชาญชาวญี่ปุ่นให้มุมมองว่า "กรอบเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก" ไม่ใช่ข้อตกลงทางการค้าที่มีเนื้อหาที่จับต้องได้ เช่น การเปิดตลาดและการลดภาษี จึงมีแรงจูงใจไม่มากนักสำหรับประเทศในภูมิภาคนี้