จีนส่งยาน “เสินโจว 14” สู่อวกาศ ในภารกิจสร้างสถานีอวกาศ
5 มิถุนายน ที่ผ่านมา ประเทศจีนได้ประสบความสำเร็จในการส่งยานบรรทุกนักบิน “เสินโจว 14” ขึ้นสู่ห้วงอวกาศ และได้ใช้โหมดการเชื่อมต่อยานแบบรวดเร็วที่จีนพัฒนาขึ้นเอง ในการเชื่อมต่อกับโมดูลหลักเทียนเหอได้สำเร็จ โดยใช้เวลาประมาณ 7 ชั่วโมง
นักบินอวกาศประจำยานเสินโจว 14 จะปฏิบัติภารกิจการประกอบสร้างสถานีอวกาศของจีนให้แล้วเสร็จระหว่างอยู่ในวงโคจร
ด้วยภารกิจครั้งนี้มีหลายขั้นตอน จนพวกเขาถูกเรียกว่าเป็น “ทีมงานสามคนที่ภาระหนักที่สุดในระหว่างการทำงานในอวกาศ”
โดยพวกเขาจะต้องเตรียมรับยาน “เสินโจว 15” ที่จะเข้ามาเชื่อมต่อกับสถานีอวกาศในอนาคต ซึ่งจะเป็นครั้งแรกที่ยานขนส่งนักบินทั้งสองลำโคจรไปพร้อมกัน และเป็นการผลัดเปลี่ยนทีมของนักบินอวกาศในระหว่างอยู่ในวงโคจรครั้งแรกอีกด้วย
การอยู่ในวงโคจรเป็นเวลานาน ทำให้ยานอวกาศได้รับผลกระทบจากสภาพแวดล้อมที่สุดโต่งในห้วงอวกาศเป็นอย่างมาก เช่น ปัญหาอุณหภูมิและความชื้นภายในยาน การถ่ายเทความร้อนนอกตัวยาน รวมถึงระดับของแสงอาทิตย์ที่รุนแรงอันส่งผลกระทบต่อตัวยาน
ปัจจัยทั้งหมดนั้น อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก นักออกแบบจึงได้ปรับปรุงเทคโนโลยีต่าง ๆ ของยานเสินโจว 14 ขึ้นใหม่
เจี๋ย ซื่อจิ่น หัวหน้านักออกแบบระบบยานนักบินอวกาศ ของกลุ่มวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีการบินอวกาศจีน สำนักงานที่ 5 เผยว่า ในช่วงที่ยานเสินโจว 13 อยู่ในวงโคจรนั้น พบว่าในห้องโดยสารบางส่วน มีอุณหภูมิต่ำมาก อาจเกิดความแตกต่างของความชื้นในแต่ละจุด ที่ยากต่อการปรับตัวและทำภารกิจ
ดังนั้นจึงต้องปรับปรุงระบบกันความชื้นและน้ำของยานเสินโจว 14 ให้ดียิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทนต่อสภาพแวดล้อมในห้วงอวกาศ