ปธน.สี จิ้นผิงให้ความสำคัญต่อการสร้างประชาคมจีน-อาเซียนที่มีอนาคตร่วมกัน
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นศูนย์กลางที่สำคัญของ "เส้นทางสายไหมทางทะเล" มาตั้งแต่สมัยโบราณ จีนถืออาเซียนอยู่ลำดับต้นๆในการพัฒนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศรอบข้าง และเป็นพื้นที่สำคัญสำหรับการร่วมสร้าง "หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง" ด้วยคุณภาพสูง นับตั้งแต่มีการเสนอแนวคิดหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางเป็นต้นมา โครงการสำคัญของหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางที่สอดคล้องกับสภาพท้องถิ่นและเป็นประโยชน์ต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนจำนวนมาก เช่น ทางรถไฟสายจีน-ลาว และทางรถไฟความเร็วสูงสายจาการ์ตา-บันดุง เป็นต้น ได้ดำเนินไปอย่างคงเส้นคงวา ซึ่งจะนำผลประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมมาสู่ประชาชน 2,000 ล้านคนใน 11 ประเทศของจีนและอาเซียน
ความร่วมมือทางเศรษฐกิจดิจิทัลได้กลายเป็นจุดเด่นในการหลอมรวมทางเศรษฐกิจระหว่างจีนกับอาเซียน ปีที่แล้วเป็นปีแห่งความร่วมมือทางเศรษฐกิจดิจิทัลจีน-อาเซียน ทั้งสองฝ่ายได้เปิดตัวโครงการความร่วมมือหลายโครงการในด้านเมืองอัจฉริยะและอื่นๆ "สมุดปกขาวว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจดิจิทัลจีน-อาเซียน" แสดงให้เห็นว่า นับถึงปีที่แล้ว จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในจีนมีถึง 989 ล้านคน และจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตของอาเซียนใกล้ถึง 500 ล้านคน จีนกับอาเซียนมีศักยภาพที่ยิ่งใหญ่ในด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจดิจิทัล ได้ประสบผลสำเร็จที่เด่นชัดในด้านการร่วมมือกันสร้างโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลและการเปลี่ยนแปลงรูปแบบอุตสาหกรรมทางดิจิทัล
นายลิม จ็อก ฮอย เลขาธิการอาเซียนกล่าวว่า สัดส่วนของมูลค่าผลผลิตเศรษฐกิจดิจิทัลในจีดีพีของอาเซียน คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 1.3% ในปี 2015 มาเป็น 8.5% ในปี 2025 ประเทศจีนที่อยู่ในแถวหน้าของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล จึงเป็นพันธมิตรที่เหมาะสมของอาเซียนในการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาค