บทวิเคราะห์ : ความสัมพันธ์จีน-อาเซียนครบรอบ 30 ปี อบอุ่นดั่งหม้อไฟฉงชิ่ง
ช่วงต้นสัปดาห์มีการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-จีนสมัยพิเศษเนื่องในโอกาสครบรอบ 30 ปีความสัมพันธ์คู่เจรจาจีน-อาเซียนที่นครฉงชิ่ง นับเป็นการเจรจาต่อหน้ากันครั้งแรกระหว่างสองฝ่ายตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 สะท้อนให้เห็นว่าทุกฝ่ายให้ความสนใจและความคาดหวังอย่างสูงต่อการพัฒนาความสัมพันธ์จีน-อาเซียนภายใต้สถานการณ์ใหม่
เมื่อ 30 ปีก่อน ในวันที่ 19 กรกฎาคม รัฐมนตรีต่างประเทศทั้งจีนและอาเซียนรวมตัวกันที่กรุงกัวลาลัมเปอร์เพื่อเริ่มการหารือสร้างความสัมพันธ์คู่เจรจาจีน-อาเซียน ซึ่งวางรากฐานให้กับการดำเนินความร่วมมือแบบอำนวยประโยชน์แก่กันระยะยาวระหว่างสองฝ่าย 30 ปีหลังจากนั้นความสัมพันธ์จีน-อาเซียนพัฒนาก้าวกระโดดกลายเป็นแบบฉบับแห่งความสำเร็จและมีพลวัตมากที่สุดในบรรดาความร่วมมือในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
อย่างไรก็ตามแม้มีผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในรอบหนึ่งร้อยปีและสถานการณ์โควิด-19 ที่ทับซ้อนกัน ความสัมพันธ์จีน-อาเซียนยังคงเผชิญสถานการณ์ใหม่ที่ต่างจากช่วงเวลาใด ๆ ในอดีต แต่ก็ไม่ได้กระทบการไปมาหาสู่กันฉันมิตรบ่อยครั้งระหว่างสองฝ่าย
ในด้านการเมือง ปลายเดือนมีนาคมต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา รัฐมนตรีต่างประเทศจาก 4 ประเทศอาเซียนได้เยือนจีนโดยบรรลุความรับรู้ร่วมกันหลายประการในด้านการต่อสู้กับโควิด-19 และผลักดันการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นการพิสูจน์ว่ามิตรภาพลึกซึ้งระหว่างจีนกับประเทศอาเซียนใกล้ชิดกันมากขึ้น ในด้านเศรษฐกิจ ปริมาณการค้าการลงทุนระหว่างจีน-อาเซียนกระเตื้องขึ้นทวนกระแสสถานการณ์โควิด-19 ทั้งสองฝ่ายกลายเป็นหุ้นส่วนการค้าอันดับแรกของอีกฝ่ายหนึ่ง ผลักดันการลงนาม RCEP กระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ส่วนในด้านการเชื่อมโยงทางจิตใจระหว่างประชาชน จีนได้ฟันฝ่าอุปสรรคของตนให้ความช่วยเหลือด้านอุปกรณ์และเทคนิคต่อสู้กับไวรัสฯ แก่ประเทศอาเซียน จัดส่งวัคซีนโควิด-19 แก่ประเทศอาเซียนแล้วกว่า 100 ล้านโดส โดยวัคซีนโควิด-19 จีนเป็นที่พึ่งสำคัญของอาเซียนในการสร้างกำแพงอุดช่องโหว่ภูมิคุ้มกัน ซึ่งเรื่องดังกล่าวล้วนสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีแก่การยกระดับความสัมพันธ์จีน-อาเซียน