การประชุมสองสภาจีนกับสัญญาณสันติภาพจากจีน
เหตุที่จีนยืนหยัดแนวทางดังกล่าวเพราะจีนปรารถนาจะเป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงทางเลือกดังสะท้อนในแผนทางสายไหมใหม่ จีนพยายามสร้างความร่วมมือกับนานาประเทศในทุกมิติ ทั้งการค้า การลงทุน การคมนาคม การศึกษา การท่องเที่ยว ฯลฯ อย่างในปีที่ผ่านมาความเชื่อมโยงของจีนมีมูลค่าสัญญาสูงถึง 45,600 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ด้วยจีนมุ่งมั่นลงทุนอย่างไม่ย่อท้อ นักคิดบางสำนักมองการเชื่อมโยงดังกล่าวเป็นความพยายามท้าทายศูนย์อำนาจเก่า แต่อีกบางสำนักมองว่า จีนเพียงต้องการสร้างบรรทัดฐานทางการค้าและปฏิสัมพันธ์ระหว่างประเทศแบบไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบ มุมมองนี้จะมีน้ำหนักมากขึ้น หากทบทวนกรณีต้มยำกุ้งเมื่อ 20 กว่าปีก่อน เพราะต้มยำกุ้งเกิดจากการเชื่อมโยงแบบเดิมซึ่งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจน-รวย เกิดวงจรรุ่งเรือง-ตกต่ำ ด้วยมีการเปิดโอกาสให้ปลาใหญ่จากชาติมหาอำนาจเข้าไปกินปลาเล็กในชาติชั้นรองจนโครงสร้างเศรษฐกิจผุพัง
ดังนั้นจีนจะต้องพิสูจน์ภาพความเป็นผู้นำให้มากที่สุดเพื่อให้การเชื่อมโยงดำเนินต่อไป ภาพของจีนต้องไม่ใช่ผู้นำที่มุ่งแต่การรบแม้จะเกิดความตึงเครียดเช่นในกรณียูเครน ทั้งนี้เพื่อไม่ให้สอดคล้องกับการสร้างภาพว่า จีนคือชาติก้าวร้าว มุ่งหวังแต่การยึดครองทางทหาร เศรษฐกิจ และสังคม ภารกิจรักษาสันติภาพจึงต้องนำหน้าเสมอสำหรับจีน และความเชื่อมั่นในหมู่ประชากรโลกคือสิ่งสำคัญ
ท่าทีระหว่างการประชุมสองสภาในเรื่องต่างประเทศไม่ใช่อุบัติการณ์สวยหรู แต่สะท้อนความพยายามของจีนตามที่เคยเป็นมา และจะยังเป็นไปตามแนวทางนั้น ความข้อนี้จะชัดเจนมากขึ้นถ้าพิจารณาผลการประชุมในส่วนที่เกี่ยวกับผลงานรัฐบาล นั่นคือจีนได้บรรลุความมั่นคงในทางเศรษฐกิจสังคมตามที่มุ่งหวังแล้ว ความยากจนถูกขจัดทั่วทุกพื้นที่ จีดีพีขยายตัว 8.1% รายได้การคลังเพิ่มขึ้น 10.7% ดุลการชำระเงินระหว่างประเทศยังคงมีความสมดุล จีนประกาศจะผลักดันเส้นทางสายไหมใหม่ต่อไปเพื่อสานต่อความมั่นคงภายใต้เงื่อนไขที่ว่า โลกต้องมั่นคงด้วย ทางสายไหมจึงไม่ต่างจากการหลอมรวมเอกภาพ หาใช่การแบ่งพรรคแบ่งพวก ดังนั้นแนวทางใดก็ตามที่จะกระทบความเป็นปึกแผ่นของประชาคมโลกย่อมไม่อยู่ในวิสัยทัศน์ของจีนไม่เว้นกระทั่งการขยายความขัดแย้งในกรณียูเครนซึ่งมหาอำนาจบางฝ่ายแสดงทีท่าสนับสนุนอยู่กลาย ๆ อาจจะด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจการเมือง