บทวิเคราะห์ : มองการพัฒนาภารกิจผู้พิการของจีนจากงานกีฬาพาราลิมปิก
ในงานกีฬาพาราลิมปิกฤดูร้อนครั้งที่ 16 ที่สิ้นสุดลงที่กรุงโตเกียวเมื่อวันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมา ทัพนักกีฬาจีนได้รับเหรียญรางวัลทั้งสิ้น 207 เหรียญ โดยจำนวนเหรียญทองและเหรียญรางวัลของทัพนักกีฬาจีนล้วนเป็นอันดับ 1 ในงานกีฬาพาราลิมปิกอย่างติดต่อกันเป็นครั้งที่ 5 ผลงานที่น่าภาคภูมิใจดังกล่าวได้สะท้อนให้เห็นถึงการพัฒนาอย่างมีคุณภาพของภารกิจด้านผู้พิการของจีน
ย้อนไปเมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1984 จีนได้เข้าร่วมงานกีฬาพาราลิมปิกฤดูร้อนเป็นครั้งแรก คราวนั้นทัพนักกีฬาจีนมีจำนวน 24 คนเท่านั้น แต่ในงานกีฬาพาราลิมปิกครั้งนี้ ทัพนักกีฬาจีนมีจำนวนถึง 251 คน โดยได้เข้าร่วมการแข่งขันต่าง ๆ 341 รายการใน 20 ประเภทใหญ่ วัตถุประสงค์ในการเข้าร่วมการแข่งขันของงานกีฬาพาราลิมปิกของบรรดานักกีฬาผู้พิการจีนไม่เพียงแต่เพื่อได้รับเหรียญรางวัลเท่านั้น ที่สำคัญกว่านั้นคือ เพื่อพิชิตตนเองและพัฒนาก้าวหน้าอีก
นี่เป็นครั้งที่ 5 ที่นายจาง เหยียน นักกีฬาปิงปองวัย 54 ปีได้เข้าร่วมงานกีฬาพาราลิมปิก ในการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศของการแข่งขันปิงปองประเภททีมชาย เขากับเพื่อนร่วมทีมเอาชนะทีมเกาหลีใต้คว้าเหรียญทองมาครองได้สำเร็จ หลังการแข่งขัน เขาระบุว่า “ตอนวัยหนุ่ม ผมคิดแต่เรื่องเดียว นั่นก็คือคว้าเหรียญทองมาครอง แต่ปัจจุบัน ผมให้ความสำคัญกับทุกขั้นตอนตลอดการแข่งขันมากกว่า เพลิดเพลินกับความมั่นใจและความสุขที่ได้มาจากการแข่งขันปิงปองมากกว่า”
มีผู้พิการหลาย ๆ คนได้เปลี่ยนชะตากรรมเนื่องจากเล่นกีฬา นางสาวหลี่ ลู่ วัย 27 ปีมาจากครอบครัวเกษตรกรมณฑลเหอหนัน มีอยู่ครั้งหนึ่ง ตอน 4 ขวบ เธอเล่นกับเพื่อน ๆ แต่เผลอไปโดนหม้อแปลงไฟฟ้าในโรงงานเผาเครื่องเคลือบของหมู่บ้าน เป็นเหตุให้เธอต้องสูญเสียแขนซ้ายและกลายเป็นเด็กพิการ อย่างไรก็ตาม หลี่ ลู่ชอบวิ่ง ถึงแม้ว่าพิการแขน แต่เธอก็วิ่งเร็วกว่าเด็กอื่น ๆ ตอนที่เรียนป.6 เธอถูกคัดเลือกเป็นนักกีฬาวิ่งระยะสั้น ตั้งแต่นั้นมา การวิ่งช่วยให้เด็กหญิงชนบทคนนี้ได้มีโอกาสสัมผัสโลกภายนอก เธอได้เป็นแชมป์เอเชีย และแชมป์โลก อีกทั้งได้รับเหรียญทองของงานกีฬาพาราลิมปิกริโอเดอจาเนโรประจำปี 2016 ในการแข่งขันวิ่ง 400 เมตรหญิงกลุ่ม T47 ของงานกีฬาพาราลิมปิกครั้งนี้ เธอได้อันดับ 4