นักวิชาการไทยเห็นว่า“การแสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง”ควรเป็นทางเลือกสำหรับจีนกับสหรัฐฯ ในการจัดการความสัมพันธ์ระหว่างกัน
เมื่อวันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา การเจรจาเชิงยุทธศาสตร์ระดับสูงระหว่างจีนกับสหรัฐฯ จัดขึ้นที่เมืองแองเคอเรจ รัฐอะแลสกาของสหรัฐฯ นับเป็นการติดต่อระดับสูงครั้งแรกระหว่างสองประเทศ หลังผู้นำจีน-สหรัฐฯ พูดคุยทางโทรศัพท์ช่วงเทศกาลตรุษจีนที่ผ่านมา เป็นเหตุการณ์สำคัญที่ทั่วโลกต่างจับตามอง
โอกาสนี้ ดร.ฐณยศ โล่ห์พัฒนานนท์ นักวิจัยประจำสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวสถานีวิทยุและโทรทัศน์ส่วนกลางแห่งประเทศจีน (CMG) ในประเด็น “ มุมมองต่อการเจรจาเชิงยุทธศาสตร์ระดับสูงระหว่างจีนกับสหรัฐฯ” ดังต่อไปนี้
มีนาคมเป็นเดือนที่เกิดเหตุการณ์สำคัญถึงสองอย่าง หลังจบการประชุมสองสภาของจีน โลกก็ได้เห็นการประชุมเจรจายุทธศาสตร์ระดับสูงจีน-สหรัฐฯ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 1ที่ผ่านมา การประชุมอย่างแรกมีนัยในเชิงของการประกาศจุดยืนให้ทุกฝ่ายทราบว่าจีนมีความประสงค์ที่จะจัดการปัญหาต่างๆ อย่างสันติรวมทั้งต้องการกระชับความร่วมมือกับนานาประเทศบนพื้นฐานความเท่าเทียม การประชุมอย่างที่สองคือความต่อเนื่องจากการประชุมสองสภาด้วยแฝงความมุ่งหมายให้โลกรู้ว่าจุดยืนของจีนเรื่องสันติภาพไม่ใช่เพียงคำประกาศเลื่อนลอย
การประชุมเจรจายุทธศาสตร์ระดับสูงจีน-สหรัฐฯ คือพื้นที่สำหรับถกเถียงปัญหาและกำหนดทิศทางความสัมพันธ์ของสองฝ่าย นี่ถือเป็นการประชุมเจรจายุทธศาสตร์ครั้งแรกหลังจากอำนาจบริหารสหรัฐฯ เปลี่ยนผ่านไปสู่มือของประธานาธิบดีโจ ไบเดน
ผู้แทนฝั่งสหรัฐฯ ประกอบไปด้วยนายแอนโทนี บลินเคน รัฐมนตรีต่างประเทศพร้อมด้วยนายเจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติ ฝั่งจีนมีนายนายหยาง เจี๋ยฉือ เจ้าหน้าที่ทูตระดับสูงและนายหวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศ ทั้งหมดประชุมที่เมืองแองเคอเรจ รัฐอะแลสกาในสหรัฐอเมริกา