พรรคคอมมิวนิสต์จีนในสายตาของพลเอกสุรสิทธิ์ ถนัดทาง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.)
ด้วย ปี ค .ศ.2021 เป็นปีครบรอบ 100 ปีแห่งการสถาปนาพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีนสำนักงานการวิจัยแห่งชาติของไทย ได้มีการไปมาหาสู่กันและแลกเปลี่ยนความร่วมมือกับหน่วยงานของประเทศจีนมาเป็นเวลายาวนาน สถานีวิทยุและโทรทัศน์ส่วนกลางแห่งประเทศจีนหรือ CHINA MEDIA GROUP (CMG) ซึ่งเป็นองค์กรสื่อระดับชาติของจีน ที่ทำหน้าที่เผยแพร่ข่าวสารสำคัญของจีนสู่โลก และข่าวสารสำคัญของโลกสู่จีน ได้มีภารกิจส่งเสริมความเข้าใจและสร้างมิตรภาพระหว่างประชาชนจีนกับประชาชนทั่วโลก โดยในวาระอันสำคัญยิ่งนี้ เพื่อเป็นการรำลึกถึงการสถาปนาพรรคคอมมิวนิสต์จีนครบรอบ 100 ปี จึงได้ดำเนินการเผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับมุมมองของบุคคลสำคัญในแวดวงต่าง ๆ ของต่างประเทศที่มีต่อพรรคคอมมิวนิสต์จีน
เมื่อเร็ว ๆ นี้ ผู้สื่อข่าวภาคภาษาไทย ศูนย์เอเชียแอฟริกา สถานีวิทยุและโทรทัศน์ส่วนกลางแห่งประเทศจีน ได้ขอสัมภาษณ์ทางลายลักษณ์อักษรกับพลเอกสุรสิทธิ์ ถนัดทาง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ
ผู้สื่อข่าว: ระหว่างการแลกเปลี่ยนความร่วมมือกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่ท่านได้สัมผัสเป็นเช่นไร ท่านเคยพบมั๊ยว่า พรรคคอมมิวนิสต์จีนตั้งแต่ระดับผู้นำจนถึงสมาชิกพรรคฯ ทั่วไปแตกต่างจากภาพลักษณ์ที่สื่อตะวันตกรายงานหรือมั๊ย ท่านเห็นว่าความแตกต่างนี้สะท้อนให้เห็นในด้านใดบ้าง?
พลเอกสุรสิทธิ์ ถนัดทาง: ทั้งพรรคฯและสมาขิกพรรคฯ ต่างมีความเข้าใจ ทุ่มเทพลังในการศึกษา และเอาจริงเอาจังกับพัฒนาการทางทฤษฎีเกี่ยวกับสังคมนิยมแบบจีนอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยและมิเคยหยุดหย่อน และมีความต่อเนื่องในการส่งผ่านประสบการณ์ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญทางประวัติศาสตร์ 3 ครั้งและ 3 ผู้ยิ่งใหญ่แห่งศตวรรษ กล่าวคือ 1) การปฏิวัติประชาชาติประชาธิปไตยในปี ค.ศ.1911 นำโดย ดร.ซุนยัดเซ็นและการก่อกำเนิดทางทฤษฎีการเมืองที่เรียกว่า “ลัทธิไตรราษฎร์- The Three People’s Principles)” 2) การปฏิวัติประชาธิปไตยแผนใหม่ สู่การสถาปนารัฐสังคมนิยม ตั้งแต่เริ่มขบวนการประชาธิปไตย “4 พฤษภาคม”(ปี 1919) นำโดย เหมาเจ๋อตง และสรุปบทเรียนทางทฤษฎีและการปฏิบัติเป็นทฤษฎีการปฏิวัติที่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของสังคมจีน ซึ่งก็คือ “ความคิดเหมาเจ๋อตง- Mao Ze Dong Thought) และ 3) การปฏิรูปเปิดเสรีเพื่อบรรลุสังคมนิยมที่ทันสมัย ตั้งแต่ปี 1978-79 โดยเติ้งเสี่ยวผิงเสนอแนวทางใหม่ที่ว่า การสร้างสังคมนิยมจีนใหม่จะต้อง “ปลดปล่อยความคิด มองปัญหาและจัดการปัญหาตามสภาพความเป็นจริง” ซึ่งได้รับการยอมรับและบรรจุไว้ในธรรมนูญของพรรคฯและรัฐธรรมนูญของจีนที่เรียกว่า “ทฤษฎีเติ้งเสี่ยวผิง- Deng Xiao Ping Theory”