การสร้างแบรนด์เมืองของจีน: สี่เมืองหลักผู้นำการพัฒนาชาติ
ถ้าพูดถึงนโยบายหลักในการพัฒนาชาติของจีนที่เห็นเด่นชัดอีกเรื่อง ต้องยกให้กับการพัฒนาเมืองตามยุทธศาสตร์ของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง เพื่อให้บรรลุความฝันของชาติหรือ “Chinese Dream” ที่อยากให้จีนเป็นประเทศแห่งนวัตกรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืนทัดเทียมนานาประเทศ นับตั้งแต่จีนเปิดประเทศในปี 1978 โดยการนำของเติ้ง เสี่ยวผิง แนวคิดเรื่องการปฏิรูปเมือง ได้ถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางจนถึงปัจจุบัน ตัวอย่างที่สำคัญของการปฏิรูปเมืองผ่านการพัฒนา ได้แก่ เขตเศรษฐกิจ (Shenzhen Special Economic Zone (SEZ)) ที่เห็นได้ชัดคือการพัฒนาเมืองเซินเจิ้น ตามแนวนโยบาย Shenzhen Master Plan (1996-2010) นับเป็นแผนการที่ประสบผลสำเร็จ จากการวางแผนการพัฒนาของพรรคคอมมิวนิสต์ในการส่งเสริมการสื่อสารภาพลักษณ์เมืองใหม่อย่างเซินเจิ้นให้เป็นเมืองผู้นำทางเทคโนโลยีในปัจจุบัน
เซินเจิ้นอยู่ภายใต้ศูนย์กลางเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กวางตุ้ง - ฮ่องกง - มาเก๊า) หรือ Greater Bay Area ตามกรอบข้อตกลงเพื่อกระชับความร่วมมือระหว่างกวางตุ้ง - ฮ่องกง - มาเก๊า ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าในปี 2030 ขนาดเศรษฐกิจของเขตเศรษฐกิจนี้จะโตขึ้นถึง 4.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และจะเป็นภูมิภาคอ่าวที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก เช่นเดียวกับแผนการพัฒนาเมืองหลวงอย่าง กรุงปักกิ่ง เมืองหลวงในปัจจุบันของจีน ซึ่งเป็นเมืองที่มีชื่อเสียงทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมระดับชาติ และมีประวัติความเป็นมากว่า 3,000 ปีก็เป็นหนึ่งในแผนหลักผ่านการจัดมหกรรมระดับนานาชาติมาแล้วนับไม่ถ้วน เช่น Beijing Olympics 2008 และ Beijing Winter Olympic 2022 เป็นต้น
ปักกิ่งยังเป็นเมืองที่มีมรดกโลกมากที่สุดในโลก โดยแลนมาร์คของการท่องเที่ยวที่สำคัญ สามารถดึงดูดงบประมาณและรายได้ในการพัฒนาได้ไม่ยาก โดยเฉพาะ พระราชวังต้องห้ามซึ่งเป็นพะรราชวังที่ใหญ่ที่สุดในโลก หอฟ้าเทียนถาน พระราชอุทยานทะเลเป๋ยไห่ สวนอี๋เหอหยวนพระราชวังฤดูร้อน หยวนหมิงหยวน รวมถึงกำแพงเมืองจีน นับเป็นเมืองแห่งประวัติศาสตร์ที่บอกเล่าเรื่องราวได้ในตัวเอง ยุทธศาสตรฺ์การพัฒนาปักกิ่งไม่เพียงแต่รักษาสภาพเมืองโบราณไว้เท่านั้น และยังแสดงถึงสภาพเมืองที่ทันสมัยที่มีการวางผังเมืองอย่างน่าสนใจ มีการแบ่งโซนย่านธุรกิจและการศึกษาไว้อย่างเป็นสัดส่วน