ปรัชญาเล่าจื๊อ : เน้นการดำเนินชีวิตตามหลักธรรมชาติ (1)
คุณผู้ฟังครับ ในรายการครั้งนี้ เราจะมาแนะนำปรัชญาของเล่าจื๊อ นักปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่อีกท่านหนึ่งในประวัติศาสตร์จีน
คัมภีร์ “เต้าเต๋อจิง” ได้ถูกประพันธ์ขึ้นช่วงศตวรรษที่ 6 ก่อนคริสต์ศักราช นักวิชาการส่วนใหญ่เห็นว่า เล่าจื๊อ ผู้รักสันโดษช่วงปลายสมัยชุนชิว (770 – 476 ปีก่อนค.ศ.) เป็นผู้ประพันธ์คัมภีร์เล่มนี้ขึ้น ข้อมูลทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับเล่าจื๊อมีน้อยมาก เล่ากันว่า เล่าจื๊อเคยรับราชการ เป็นบรรณารักษ์ในห้องสมุดแห่งราชสำนักของราชวงศ์โจว เขาเป็นคนที่มีความรู้มาก ขงจื๊อ นักปราชญ์ที่ยิ่งใหญ่เคยเดินทางนับพันลี้ ไปพบเล่าจื๊อ เพื่อขอความรู้จากท่าน
คัมภีร์ “เต้าเต๋อจิง” หรือคัมภีร์เกี่ยวกับวิถีทาง และคุณธรรมมีตัวอักษรจีนเพียงประมาณ 5,000 ตัว รวม 81 บท โดยแบ่งออกเป็นสองส่วน คือส่วนที่เกี่ยวกับวิถีทาง และส่วนที่เกี่ยวกับคุณธรรม
แม้คัมภีร์เล่มนี้มีตัวอักษาจีนเพียงประมาณ 5,000 ตัวเท่านั้น แต่กลับมีอิทธิพลมากต่อวิวัฒนาการของวัฒนธรรมจีน และกลายเป็นพื้นฐานของลัทธิเต๋า ซึ่งเป็นปรัชญาที่มีความสำคัญยิ่งควบคู่ไปกับลัทธิขงจื๊อในสมัยโบราณของจีน ลัทธิเต๋า ถือเป็นศาสนาท้องถิ่นที่มีอิทธิพลมากที่สุดในจีน ความคิดของเล่าจื๊อ มีอิทธิพลโดยตรงต่อเอกลักษณ์ แนวความคิด และความนิยมด้านสุนทรียะของประชาชาติจีนอย่างมาก จนถึงทุกวันนี้ คัมภีร์ “เต้าเต๋อจิง” ยังคงมีบทบาทสำคัญต่อแนวความคิดของชาวจีน
คัมภีร์ “เต้าเต๋อจิง” เริ่มเผยแพร่ไปยังยุโรปตั้งแต่ศตวรรษที่ 15 และเป็นหนึ่งในคัมภีร์ปรัชญาในสมัยโบราณของจีนที่ได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศมากที่สุด แนวความคิดทางปรัชญาของเล่าจื๊อเน้นการดำเนินชีวิตตามหลักธรรมชาติ และความเรียบง่าย